About the article
ไสยศาสตร์ การสิงสู่และดวงตาริษยา
ไสยศาสตร์ การสิงสู่และดวงตาริษยา
] ไทย – Thai – تايلاندي [
ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์
แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ
ตรวจทานโดย : อัสรัน นิยมเดชา
ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต
อัล-มุลกอฮฺ
2014 - 1435
السحر والمس والعين
« باللغة التايلاندية »
د. أمين بن عبدالله الشقاوي
ترجمة: حسنى فوانجسيري
مراجعة: عصران نيومديشا
المصدر: كتاب الدرر المنتقاة من الكلمات الملقاة
2014 - 1435
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
ไสยศาสตร์ การสิงสู่ และดวงตาริษยา
มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความสุขความจำเริญและความสันติจงประสบแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใด ๆสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์
ดุนยาคือโลกแห่งการทดสอบ ผู้ศรัทธาจะถูกทดสอบทั้งด้วยความสุขและความทุกข์ ความยากเข็ญลำเค็ญและความเป็นอยู่ที่ดี การมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและมีโรคภัยไข้เจ็บ ความร่ำรวยและความยากจน หรือแม้แต่สิ่งที่เป็นอารมณ์ความต้องการและความเคลือบแคลงสงสัย อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
﴿ كُلُّ نَفۡسٖ ذَآئِقَةُ ٱلۡمَوۡتِۗ وَنَبۡلُوكُم بِٱلشَّرِّ وَٱلۡخَيۡرِ فِتۡنَةٗۖ وَإِلَيۡنَا تُرۡجَعُونَ ٣٥ ﴾ [الأنبياء: ٣٥]
ความว่า “ทุกชีวิตย่อมลิ้มรสความตาย และเราจะทดสอบพวกเจ้าด้วยความชั่วและความดี และพวกเจ้าจะต้องกลับไปหาเราอย่างแน่นอน” (อัลอันบิยาอ์: 35)
กล่าวคือ ในบางครั้งเราจะทดสอบพวกเจ้าทั้งด้วยทุกข์ภัยความยากลำบาก และบางครั้งเราก็ทดสอบด้วยความสุขสบาย เพื่อที่จะเฝ้าดูว่าพวกเจ้านั้นเป็นผู้ที่สรรเสริญขอบคุณ หรือเป็นผู้ที่ปฏิเสธ เป็นผู้ที่หมดหวังหรือเป็นผู้ที่อดทน
บททดสอบหนึ่งที่มนุษย์อาจพบเจอ คือ ไสยศาสตร์ การถูกญินเข้าสิง และดวงตาที่ริษยา (อัลอัยนฺ) สิ่งเหล่านี้มีหลักฐานชัดเจนทั้งจากบทบัญญัติอิสลาม และจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และผู้คนในปัจจุบันนี้ต่างประสบกับบททดสอบนี้กันอย่างมากมาย ส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้เกิดกรณีดังกล่าวคือ
สาเหตุที่หนึ่ง เป็นบททดสอบจากพระองค์อัลลอฮฺ ตะอาลา ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้แม้กับคนดีทั้งหญิงและชาย ดังที่ได้เกิดขึ้นกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทั้งที่ท่านเป็นผู้นำของมวลมนุษยชาติ ดังหะดีษที่รายงานโดยท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ว่า “ชายชาวยิวจากเผ่าซุร็อยกฺ ชื่อละบีด บิน อัลอะอฺศ็อม ได้ทำคุณไสยใส่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กระทั่งท่านถึงกับเพ้อว่าได้ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปโดยที่ท่านไม่ได้ทำ ในที่สุดมลาอิกะฮฺได้มาหาท่าน และบอกที่ซ่อนของคุณไสยนั้น ท่านจึงใช้ให้นำออกมาแล้วเอาไปฝัง” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 5766 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2189)
คุณไสยที่เกิดขึ้นกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ถือเป็นโรคหนึ่งจากภัยไข้เจ็บทั่วไปที่เกิดขึ้น และพระองค์อัลลอฮฺก็ได้ทรงทำให้ท่านหายจากโรคดังกล่าว จึงไม่ถือเป็นข้อบกพร่องหรือเป็นเรื่องน่าตำหนิแต่ประการใด ทั้งนี้เพราะโรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับบรรดานบี หรือแม้แต่อาการหมดสติ ซึ่งท่านนบีก็เคยหมดสติเมื่อครั้งที่ท่านป่วยจนล้มลง สิ่งนี้คือบททดสอบ เพื่อที่อัลลอฮฺจะได้ทรงเพิ่มพูนผลบุญและความจำเริญให้แก่ท่าน
และแน่นอนว่าบุคคลที่ถูกทดสอบอย่างสาหัสที่สุดคือบรรดานบีทั้งหลาย พวกท่านต่างเผชิญกับการทดสอบด้วยพฤติกรรมของประชาชาติของพวกท่าน ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าฟัน ทุบตีทำร้าย ด่าทอ หรือกักขัง จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะถูกทดสอบจากบรรดาศัตรูของท่านด้วยไสยศาสตร์ ไม่ต่างจากการที่ท่านถูกทดสอบด้วยคมหอกคมดาบ หรือการที่มีผู้นำสิ่งปฏิกูลวางบนหลังท่านขณะที่กำลังสุญูด และกรณีอื่น ๆ ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใด สำหรับนบีทั้งหลายที่จะถูกทดสอบในลักษณะเช่นนี้ และพวกท่านก็จะได้รับผลบุญที่เพิ่มพูน ณ อัลลอฮฺ ตะอาลา (บะดาอิอฺ อัลฟะวาอิด เล่ม 2 หน้า 742)
สาเหตุที่สอง การฝ่าฝืนและบาปความผิดต่าง ๆ อัลลอฮฺ ตะอาลาตรัสว่า
﴿ وَمَآ أَصَٰبَكُم مِّن مُّصِيبَةٖ فَبِمَا كَسَبَتۡ أَيۡدِيكُمۡ وَيَعۡفُواْ عَن كَثِيرٖ ٣٠ ﴾ [الشورى: ٣٠]
ความว่า “และทุกข์ภัยอันใดที่ประสบแก่พวกเจ้า ก็เนื่องด้วยน้ำมือของพวกเจ้าได้ขวนขวายไว้ และพระองค์ทรงอภัย (ความผิดให้) มากต่อมากแล้ว” (อัชชูรอ: 30)
และพระองค์ตรัสว่า
﴿ مَّآ أَصَابَكَ مِنۡ حَسَنَةٖ فَمِنَ ٱللَّهِۖ وَمَآ أَصَابَكَ مِن سَيِّئَةٖ فَمِن نَّفۡسِكَۚ ﴾ [النساء: ٧٩]
ความว่า “ความดีใด ๆ ที่ประสบแก่เจ้านั้น มาจากอัลลอฮฺ และความชั่วใด ๆ ที่ประสบแก่เจ้านั้นมาจากตัวของเจ้าเอง” (อันนิสาอ์: 79)
ชาวสลัฟท่านหนึ่งกล่าวว่า “เมื่อใดที่ฉันฝ่าฝืนอัลลอฮฺ ฉันมักจะได้เห็นผลของการฝ่าฝืนดังกล่าว เกิดขึ้นกับตัวฉันและสัตว์พาหนะของฉัน”
สาเหตุที่สาม การหลงลืมและเพิกเฉยต่อการรำลึกถึงอัลลอฮฺ อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
﴿ وَمَن يَعۡشُ عَن ذِكۡرِ ٱلرَّحۡمَٰنِ نُقَيِّضۡ لَهُۥ شَيۡطَٰنٗا فَهُوَ لَهُۥ قَرِينٞ ٣٦ ﴾ [الزخرف: ٣٦]
ความว่า “และผู้ใดผินหลังจากการรำลึกถึงพระผู้ทรงกรุณาปรานี เราะจะให้ชัยฏอนตัวหนึ่งแก่เขา แล้วมันก็จะเป็นสหายของเขา” (อัซซุครุฟ: 36)
ท่านญาบิรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« إِذَا دَخَلَ الرَّجُلُ بَيْتَهُ، فَذَكَرَ اللهَ عِنْدَ دُخُولِهِ وَعِنْدَ طَعَامِهِ، قَالَ الشَّيْطَانُ: لَا مَبِيتَ لَكُمْ وَلَا عَشَاءَ، وَإِذَا دَخَلَ فَلَمْ يَذْكُرِ اللهَ عِنْدَ دُخُولِهِ، قَالَ الشَّيْطَانُ: أَدْرَكْتُمُ الْمَبِيتَ، وَإِذَا لَمْ يَذْكُرِ اللهَ عِنْدَ طَعَامِهِ، قَالَ: أَدْرَكْتُمُ الْمَبِيتَ وَالْعَشَاءَ» [رواه مسلم برقم 2018]
ความว่า “เมื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งรำลึกถึงอัลลอฮฺ ขณะที่เขาก้าวเข้าบ้าน และขณะที่เขาจะรับประทานอาหาร ชัยฏอนจะกล่าว (แก่พรรคพวกของมัน) ว่า คืนนี้พวกเจ้าคงไม่มีที่นอนและไม่มีอาหารเย็นให้กินแล้ว! แต่หากเขาไม่รำลึกถึงอัลลอฮฺขณะเดินเข้าบ้าน ชัยฏอนจะกล่าว (แก่พรรคพวกของมัน) ว่า พวกเจ้าได้ที่นอนสำหรับคืนนี้แล้ว! และหากเขาไม่รำลึกถึงอัลลอฮฺขณะรับประทานอาหาร ชัยฏอนจะกล่าว (แก่พรรคพวกของมัน) ว่า พวกเจ้าได้ที่นอนและอาหารเย็นแล้ว!” (บันทึกโดย มุสลิม หะดีษเลขที่ 2018)
สาเหตุที่สี่ ความอิจฉาริษยา อัลลอฮฺ ตรัสว่า
﴿ أَمۡ يَحۡسُدُونَ ٱلنَّاسَ عَلَىٰ مَآ ءَاتَىٰهُمُ ٱللَّهُ مِن فَضۡلِهِۦۖ فَقَدۡ ءَاتَيۡنَآ ءَالَ إِبۡرَٰهِيمَ ٱلۡكِتَٰبَ وَٱلۡحِكۡمَةَ وَءَاتَيۡنَٰهُم مُّلۡكًا عَظِيمٗا ٥٤ ﴾ [النساء : ٥٤]
ความว่า “หรือว่าพวกเขาอิจฉาคนอื่น ในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประทานให้แก่พวกเขา จากความกรุณาของพระองค์ แท้จริงนั้นพระองค์ได้ปรานให้แก่วงศ์วานของอิบรอฮีมมาแล้วซึ่งคัมภีร์และความรู้เกี่ยวกับศาสนา และได้ทรงให้แก่พวกเขาซึ่งอำนาจอันยิ่งใหญ่” (อันนิสาอ์: 54)
ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« لَا تَحَاسَدُوْا، وَلَا تَنَاجَشُوْا، وَلَا تَبَاغَضُوْا، وَلَا تَدَابَرُوْا، وَلَا يَبِعْ بَعْضُكُمْ عَلىَ بَيْعِ بَعْضٍ، وَكُوْنُوْا عِبَادَ اللهِ إِخْوَانًا » [رواه مسلم برقم 2564]
ความว่า “พวกท่านจงอย่าอิจฉาริษยาซึ่งกันและกัน อย่าเพิ่มราคาสินค้าโดยที่ท่านเองไม่ต้องการซื้อ (เป็นหน้าม้าให้ผู้ขายได้รับประโยชน์) อย่าได้โกรธเคืองซึ่งกันและกัน อย่าได้ขัดแย้งกันเอง อย่าได้ขายของตัดหน้ากัน และพวกท่านจงเป็นบ่าวของอัลลอฮฺที่มีความรักใคร่กลมเกลียวกัน” (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 2564)
ผู้มีดวงตาริษยา (อัลอาอิน - العائن) กับผู้ที่มีความอิจฉา (อัลหาสิด - الحاسد) นั้นมีความเหมือนกันตรงที่บุคคลทั้งสองประเภทนี้ อยากที่จะเป็นหรือมีเหมือนผู้ที่เขาอิจฉา ผู้ที่มีดวงตาริษยาจะอิจฉาเมื่ออยู่ต่อหน้า หรือเมื่อพบเห็นสิ่งดังกล่าว ส่วนผู้ที่มีความอิจฉา จะอิจฉาทั้งต่อหน้าและลับหลัง
ส่วนข้อแตกต่างก็คือ ผู้มีดวงตาริษยาอาจพุ่งสายตาจับจ้องและก่อให้เกิดผลเสียต่อ วัตถุ สัตว์ พืชผล หรือทรัพย์สิน ก็ได้ แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วผู้ที่เขาอิจฉา คือผู้เป็นเจ้าของสิ่งเหล่านั้น
บางครั้งดวงตาริษยาอาจส่งผลเสียต่อตัวเขาเองด้วยซ้ำ เพราะการที่เขาจ้องมองสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความชื่นชอบและปลาบปลื้มอย่างมาก ก็อาจส่งผลเสียต่อสิ่งที่ถูกมองได้
นักอรรถาธิบายอัลกุรอานหลายท่านระบุว่าคำตรัสของอัลลอฮฺที่ว่า
﴿ وَإِن يَكَادُ ٱلَّذِينَ كَفَرُواْ لَيُزۡلِقُونَكَ بِأَبۡصَٰرِهِمۡ لَمَّا سَمِعُواْ ٱلذِّكۡرَ ﴾ [القلم: ٥١]
ความว่า “และบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธานั้นแทบจะทำให้สายตาของพวกเขาจ้องเขม็งไปยังเจ้า เมื่อพวกเขาได้ยินอัลกุรอาน” (อัลเกาะลัม: 51)
นั้นหมายถึงการประสบกับ อัลอัยนฺ (สายตาอาฆาตริษยา) โดยพวกเขาประสงค์จะให้ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ประสบกับพิษภัยของสายตาริษยา จึงให้คนกลุ่มหนึ่งที่มีดวงตาริษยาอาฆาตจับจ้องท่าน ซึ่งพวกเขาต่างกล่าวว่า “เราไม่เคยเห็นผู้ใดเหมือนเขาเลย”
คนจำพวกนี้บางคนอาจพบเห็นวัวที่อ้วนท้วนสมบูรณ์ แล้วเกิดความริษยา จึงจับจ้องมองด้วยสายตาที่อาฆาต พร้อมบอกให้เด็กรับใช้เตรียมภาชนะกับเงินไว้ เพื่อไปซื้อเนื้อวัวดังกล่าวมา หลังจากนั้นไม่นานวัวตัวดังกล่าวก็ล้มป่วยลงและถูกเชือด (บะดาอิอฺ อัลฟะวาอิด เล่ม 2 หน้า 751-752)
ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« العَيْنُ حَقٌّ » [رواه البخاري برقم 5740 مسلم برقم 2187]
ความว่า “อัลอัยนฺ (สายตาอาฆาตริษยา) นั้นเป็นสิ่งที่มีผลจริง” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 5740 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2187)
อัสมาอ์ บินตฺ อุมัยสฺ กล่าวแก่ท่านนบีว่า “โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ลูกหลานของญะอฺฟัรประสบกับอัลอัยนฺ เราควรจะรักษาพวกเขาไหม? ท่านนบีกล่าวตอบว่า
« نَعَمْ، فَلَوْ كَانَ شَيْءٌ يَسْبِقُ الْقَدَرَ لَسَبَقَتْهُ الْعَيْنُ» [رواه أحمد برقم 27470 والترمذي برقم 2059]
ความว่า “ใช่ เพราะถ้าหากจะมีสิ่งใดที่รุดหน้าก่อนกำหนดการณ์ของอัลลอฮฺ ก็คงเป็นอัลอัยนฺนี่แหละ” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 27470 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2059)
ท่านญาบิรฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«إِنَّ الْعَيْنَ لَتُدْخِلُ الرَّجُلَ الْقَبْرَ، وَتُدْخِلُ الْجَمَلَ الْقِدْرَ» [رواه ابن عدي في الكامل 6/408]
ความว่า “แท้จริง อัลอัยนฺ นั้นอาจทำให้คนคนหนึ่งเข้าหลุมศพ (คือทำให้เขาตาย) และทำให้อูฐลงหม้อได้ (คือทำให้อูฐเป็นโรค จนเจ้าของต้องเชือดมัน)” (บันทึกโดย อิบนุ อะดีย์ 6/408)
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงได้ชี้แนะผู้ศรัทธาว่า เมื่อพบเห็นสิ่งใดให้กล่าวขอให้อัลลอฮฺทรงประทานบะเราะกัตความจำเริญแก่สิ่งนั้น ดังที่มีรายงานจากท่านสะฮฺล์ บิน หะนีฟ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« عَلَامَ يَقْتُلُ أَحَدُكُمْ أَخَاهُ؟ هَلَّا إِذَا رَأَيْتَ مَا يُعْجِبُكَ بَرَّكْتَ؟ » [رواه أحمد برقم 15980]
ความว่า “ด้วยเหตุอันใดเล่าที่คนใดคนหนึ่งในหมู่พวกท่านจะฆ่าพี่น้องของเขา? ทางที่ดีและสมควรอย่างยิ่งคือ เมื่อท่านเห็นสิ่งใดที่ท่านรู้สึกถูกใจ ให้ท่านกล่าวขอให้สิ่งนั้นมีบะเราะกัตและความจำเริญ” (บันทึกโดย อะหฺมัด หะดีษเลขที่ 15980)
เกราะป้องกันให้พ้นจากความชั่วร้ายเหล่านี้ ได้แก่
(1) มอบหมายการงานทุกอย่างต่ออัลลอฮฺ นี่คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่จะสามารถคุ้มครองเราให้พ้นจากโรคร้ายและสิ่งไม่ดีทั้งหลาย และใครก็ตามที่มอบหมายต่อพระองค์ พระองค์ก็จะทรงช่วยเหลือเขา อัลลอฮฺ ตรัสว่า
﴿ وَمَن يَتَوَكَّلۡ عَلَى ٱللَّهِ فَهُوَ حَسۡبُهُۥٓۚ ﴾ [الطلاق : ٣]
ความว่า “และผู้ใดมอบหมายแด่อัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงเป็นผู้พอเพียงแก่เขา” (อัฏเฏาะลาก: 3)
(2) ปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ และหลีกห่างจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม ฉะนั้น ผู้ใดรักษาไว้ซึ่งคำสั่งใช้ของพระองค์ พระองค์ก็จะทรงปกป้องเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนา ดุนยา ครอบครัว และทรัพย์สิน อัลลอฮฺ ตรัสว่า
﴿ فَٱللَّهُ خَيۡرٌ حَٰفِظٗاۖ ﴾ [يوسف: 64]
ความว่า “ดังนั้น อัลลอฮฺทรงเป็นผู้คุ้มกันที่ดียิ่ง” (ยูสุฟ: 64)
ท่านอิบนุอับบาส เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวัลลัม กล่าวว่า
« احْفَظِ اللهَ يَحْفَظْكَ » [رواه الترمذي برقم 2516]
ความว่า “จงรักษา (คำสั่งใช้) ของอัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงปกป้องรักษาท่าน” (บันทึกโดย อัตติรมิซีย์ หะดีษเลขที่ 2516)
(3) รำลึกถึงอัลลอฮฺให้มาก ขณะเข้าและออกจากบ้าน ทั้งในตอนเช้าและตอนเย็น ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« مَنْ قَالَ: لاَ إِلَهَ إِلَّا اللَّهُ، وَحْدَهُ لاَ شَرِيكَ لَهُ، لَهُ المُلْكُ وَلَهُ الحَمْدُ، وَهُوَ عَلَى كُلِّ شَيْءٍ قَدِيرٌ، فِي يَوْمٍ مِائَةَ مَرَّةٍ، كَانَتْ لَهُ عَدْلَ عَشْرِ رِقَابٍ، وَكُتِبَتْ لَهُ مِائَةُ حَسَنَةٍ، وَمُحِيَتْ عَنْهُ مِائَةُ سَيِّئَةٍ، وَكَانَتْ لَهُ حِرْزًا مِنَ الشَّيْطَانِ يَوْمَهُ ذَلِكَ حَتَّى يُمْسِيَ، وَلَمْ يَأْتِ أَحَدٌ بِأَفْضَلَ مِمَّا جَاءَ بِهِ، إِلَّا أَحَدٌ عَمِلَ أَكْثَرَ مِنْ ذَلِكَ » [رواه البخاري برقم 3293 ومسلم برقم 2691]
ความว่า “ผู้ใดกล่าว ‘ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ วะหฺดะฮุ ลาชะรีกะละฮฺ ละฮุลมุลกฺ วะละฮุลหัมดฺ วะฮุวะ อะลา กุลลิชัยอิน เกาะดีรฺ’ (ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว ไม่มีภาคีใดเทียบเคียงพระองค์ พระองค์คือผู้ทรงอำนาจและคู่ควรแก่การสรรเสริญ และพระองค์ทรงมีเดชานุภาพเหนือทุกสิ่ง) หนึ่งร้อยครั้งในหนึ่งวัน เขาจะได้รับผลบุญเท่ากับการปล่อยทาสสิบคน ได้รับการบันทึกหนึ่งร้อยความดี ลบล้างหนึ่งร้อยความผิด และจะได้รับการปกป้องจากชัยฏอนตลอดวันจนกระทั่งเย็น โดยที่ไม่มีใครจะได้รับความดีความประเสริญมากกว่าเขา นอกจากผู้ที่สามารถทำได้มากกว่าเขา” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 3293 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2691)
(4) ขอความคุ้มครองแก่บุตรหลาน ให้รอดพ้นจากชัยฏอน ท่านอิบนุอับบาส เล่าว่า ท่านนบีได้เคยขอความคุ้มครองให้หะสันและหุสัยนฺ โดยท่านกล่าวว่า
« إِنَّ أَبَاكُمَا كَانَ يُعَوِّذُ بِهَا إِسْمَاعِيلَ وَإِسْحَاقَ: أَعُوذُ بِكَلِمَاتِ اللَّهِ التَّامَّةِ، مِنْ كُلِّ شَيْطَانٍ وَهَامَّةٍ، وَمِنْ كُلِّ عَيْنٍ لاَمَّةٍ » [رواه البخاري برقم 3371]
ความว่า “แท้จริง บิดาของเจ้าทั้งสอง (นบีอิบรอฮีม) ก็เคยขอความคุ้มครองให้แก่นบีอิสมาอีลและนบีอิสหาก ด้วยดุอาอ์บทนี้
أَعُوذُ بِكَلِمَاتِ اللَّهِ التَّامَّةِ، مِنْ كُلِّ شَيْطَانٍ وَهَامَّةٍ، وَمِنْ كُلِّ عَيْنٍ لاَمَّةٍ
(ฉันขอความคุ้มครองด้วยถ้อยคำต่าง ๆ อันสมบูรณ์ของอัลลอฮฺ จากชัยฏอนทุกตัว และแมลงมีพิษทั้งหลาย ตลอดจนทุก ๆ สายตามาดร้ายที่คอยอาฆาต)” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 3371)
(5) ผู้ศรัทธาควรรับประทานอัจวะฮฺจำนวนเจ็ดเม็ดในตอนเช้า อัจวะฮฺคืออินทผลัมชนิดหนึ่งซึ่งปลูกในเมืองมะดีนะฮฺ มีหะดีษซึ่งรายงานโดยท่านสะอัด บิน อบีวักกอศ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« مَنْ تَصَبَّحَ سَبْعَ تَمَرَاتٍ عَجْوَةً، لَمْ يَضُرَّهُ ذَلِكَ اليَوْمَ سُمٌّ وَلاَ سِحْرٌ » [رواه البخاري برقم 5769 ومسلم برقم 2074]
ความว่า “ผู้ใดทานอินทผลัมอัจวะฮฺเจ็ดเม็ดในตอนเช้า ในวันนั้นยาพิษหรือคุณไสยจะไม่สามารถทำอะไรเขาได้” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 5769 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2074)
ชัยคฺ อับดุลอะซีซ บิน บาซ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า “หวังว่าประโยชน์ดังกล่าวนี้จะครอบคลุมอินทผลัมทุกชนิด”
(6) ดำรงรักษาละหมาดศุบหฺพร้อมญะมาอะฮฺที่มัสยิด ท่านญุนดุบ บิน อับดิลลาฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« مَنْ صَلَّى الصُبْحَ فَهُوَ في ذِمَّةِ اللهِ » [رواه مسلم برقم 657]
ความว่า “ผู้ใดละหมาดศุบหฺ เขาจะได้รับความคุ้มครองจากอัลลอฮฺ” (บันทึกโดย มุสลิม หะดีษเลขที่ 657)
และผู้ใดที่อยู่ในความคุ้มครองของพระองค์ แน่นอนว่าชัยฏอนจะห่างไกลจากเขา
(7) อ่านสูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺในบ้านเป็นประจำ ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« إِنَّ الشَّيْطَانَ يَنْفِرُ مِنَ الْبَيْتِ الَّذِي تُقْرَأُ فِيهِ سُورَةُ الْبَقَرَةِ » [رواه مسلم برقم 780]
ความว่า “แท้จริงชัยฏอนนั้นจะหลีกหนีจากบ้านที่มีการอ่านสูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ” (บันทึกโดย มุสลิม หะดีษเลขที่ 780)
และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« اقْرَءُوا سُورَةَ الْبَقَرَةِ، فَإِنَّ أَخْذَهَا بَرَكَةٌ، وَتَرْكَهَا حَسْرَةٌ، وَلَا تَسْتَطِيعُهَا الْبَطَلَةُ » [رواه مسلم برقم 804]
ความว่า “พวกท่านจงอ่านสูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺเถิด เพราะแท้จริงการอ่านสูเราะฮฺนี้เป็นบะเราะกัต ผู้ใดละทิ้งก็จะประสบกับความโศกเศร้าเสียใจ และนักไสยศาสตร์จะไม่สามารถอ่านสูเราะฮฺนี้ได้” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 804)
(8) หมั่นสูเราะฮฺอัลฟะลักและอันนาส ทั้งตอนเช้าและตอนเย็น เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม ได้เคยสั่งเสียท่านอุกบะฮฺ บิน อามิรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ โดยกล่าวว่า
« تَعَوَّذْ بِهِمَا، فَمَا تَعَوَّذَ مُتَعَوِّذٌ بِمِثْلِهِمَا » [رواه أبو داود برقم 1463]
ความว่า “ท่านจงขอความคุ้มครองด้วยการอ่านสูเราะฮฺทั้งสองเถิด เพราะแท้จริงไม่มีการขอความคุ้มครองใด จะดีเท่าการขอความคุ้มครองด้วยสองสูเราะฮฺนี้” (บันทึกโดย อบูดาวุด หะดีษเลขที่ 1463)
อิบนุลก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า “สำหรับบ่าวแล้ว ความจำเป็นที่เขาต้องขอความคุ้มครองด้วยสูเราะฮฺทั้งสองนี้ เหนือกว่าความจำเป็นของอากาศหายใจ อาหาร เครื่องดื่ม หรือเสื้อผ้าอาภรณ์เสียอีก” (บะดาอิอฺ อัลฟะวาอิด เล่ม 2 หน้า 426)
(9) กล่าวขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺ ให้พ้นจากสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายที่ถูกสร้างให้มาก ทั้งในเวลากลางคืน และกลางวัน หรือเมื่อเข้าไปพักในอาคาร ทะเลทราย อยู่บนเครื่องบิน หรือในทะเล เคาละฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« مَنْ نَزَلَ مَنْزِلًا ثُمَّ قَالَ: أَعُوذُ بِكَلِمَاتِ اللهِ التَّامَّاتِ مِنْ شَرِّ مَا خَلَقَ، لَمْ يَضُرَّهُ فِيهِ شَيْءٌ، حَتَّى يَرْتَحِلَ مِنْهُ » [رواه مسلم برقم 2708]
ความว่า “ผู้ใดเข้าไปในสถานที่แห่งหนึ่งแห่งหนึ่งแห่งใด แล้วกล่าวว่า أَعُوذُ بِكَلِمَاتِ اللهِ التَّامَّاتِ مِنْ شَرِّ مَا خَلَقَ (ฉันขอความคุ้มครองด้วยพระดำรัสของอัลลอฮฺซึ่งมีความสมบูรณ์ยิ่ง ให้พ้นจากสิ่งชั่วร้ายที่พระองค์ทรงสร้างด้วยเถิด) เขาจะไม่ได้รับอันตรายจากสิ่งใด จนกระทั่งเขาออกจากที่แห่งนั้น” (บันทึกโดย มุสลิม หะดีษเลขที่ 2708)
(10) อ่านสองอายะฮฺสุดท้ายของสูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ ในช่วงแรกของค่ำคืน ท่านอบูมัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« مَنْ قَرَأَ بِالآيَتَيْنِ مِنْ آخِرِ سُوْرَةِ البَقَرَةِ فِي لَيْلَةٍ كَفَتَاهُ » [رواه البخاري برقم 5009 ومسلم برقم 807]
ความว่า “ผู้ใดอ่านสองอายะฮฺสุดท้ายของสูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺในยามค่ำคืน เขาจะได้รับความคุ้มครองจากสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 5009 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 807)
(11) อ่านอายะฮฺกุรสีย์ก่อนนอน ดังที่ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ รายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ว่า
« مَنْ قَرَأَهَا إِذَا أَوَى إِلى فِرَاشِهِ، فَإِنَّهُ لَا يَزَالَ عَلَيْهِ مِنَ اللَّهِ حَافِظٌ، وَلاَ يَقْرَبُهُ شَيْطَانٌ حَتَّى يُصْبِحَ » [جزء من حديث رواه البخاري برقم 2311]
ความว่า “ผู้ใดอ่านอายะฮฺกุรสีย์ขณะที่เขาล้มตัวลงนอนบนเตียงของเขา เขาจะได้รับความคุ้มครองจากอัลลอฮฺ และชัยฏอนจะไม่เข้าใกล้เขาจนกระทั่งเช้า” (ส่วนหนึ่งของหะดีษซึ่งบันทึกโดย อัลบุคอรีย์ เลขที่ 2311)
(12) อย่าปล่อยให้เด็กอยู่นอกบ้านเวลาพลบค่ำ ท่านญาบิรฺ เราะฎิยัลลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« إِذَا كَانَ جُنْحُ اللَّيْلِ، أَوْ أَمْسَيْتُمْ، فَكُفُّوا صِبْيَانَكُمْ، فَإِنَّ الشَّيَاطِينَ تَنْتَشِرُ حِينَئِذٍ، فَإِذَا ذَهَبَتْ سَاعَةٌ مِنَ اللَّيْلِ فَخَلُّوهُمْ، وَأَغْلِقُوا الأَبْوَابَ وَاذْكُرُوا اسْمَ اللَّهِ، فَإِنَّ الشَّيْطَانَ لاَ يَفْتَحُ بَابًا مُغْلَقًا » [رواه البخاري برقم 2304 ومسلم برقم 835]
ความว่า “ในช่วงเวลาพลบค่ำ จงห้ามมิให้บุตรหลานของพวกท่านอยู่นอกบ้าน เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวบรรดาชัยฏอนจะออกมามากมาย เมื่อผ่านช่วงเวลานั้นไปสักครู่หนึ่งก็ให้ปล่อยพวกเขาได้ และจงปิดประตูและกล่าวซิกรุลลอฮฺ เพราะแท้จริงชัยฏอนจะไม่สามารถเปิดประตูที่ปิดอยู่ได้” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 2304 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2012)
(13) ทำให้บ้านพักอาศัยปราศจากสัญลักษณ์ไม้กางเขน รูปปั้นของสิ่งมีวิญญาณ และสุนัข ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« لَا تَدْخُلُ الْمَلَائِكَةُ بَيْتًا فِيهِ كَلْبٌ وَلَا صُورَةٌ » [رواه البخاري برقم 3227 ومسلم برقم 2106] وفي رواية: « تَمَاثِيْلَ » [رواه مسلم برقم 2106]
ความว่า “แท้จริงบรรดามลาอิกะฮฺจะไม่เข้าบ้านที่มีสุนัข และรูปภาพ” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 3227 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2106) ในอีกสำนวนหนึ่งระบุว่า “รูปปั้น” (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 2106)
และรวมถึงการทำให้บ้านปราศจากเครื่องดนตรีต่าง ๆ ด้วย เพราะดนตรีเป็นเสียงของชัยฏอน
อิบนุลก็อยยิม กล่าวว่า “เคยมีช่วงหนึ่งที่ฉันล้มป่วยขณะพำนักอยู่ที่มักกะฮฺ โดยไม่มีหมอหรือยา ฉันจึงทำการรักษาด้วยสูเราะฮฺอัลฟาติหะฮฺ โดยอ่านลงในน้ำซัมซัมแล้วดื่ม กระทั่งฉันรู้สึกว่าหายป่วยโดยสิ้นเชิง หลังจากนั้น เมื่อฉันเจ็บป่วยในคราใด ฉันก็จะใช้วิธีนี้ ซึ่งฉันก็พบว่ามันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก” (อัฏฏิบ อันนะบะวีย์ หน้า 301)
สูเราะฮฺที่ใช้รักษาโรคต่าง ๆ นั้น ได้แก่ สูเราะฮฺอัลฟาติหะฮฺ มุเอาวิซะตาน (อัลฟะลักและอันนาส) และอายะฮฺกุรสีย์ ส่วนดุอาอ์ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ขอก็เช่น
« اللَّهُمَّ رَبَّ النَّاسِ أَذْهِبِ البَاسَ، اشْفِهِ وَأَنْتَ الشَّافِي، لاَ شِفَاءَ إِلَّا شِفَاؤُكَ، شِفَاءً لاَ يُغَادِرُ سَقَمًا » [رواه البخاري برقم 5743 ومسلم برقم 2191]
ความว่า “โอ้อัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งมวลมนุษย์ ขอทรงโปรดขจัดโรคภัย และบำบัดรักษามันด้วยด้วยเถิด พระองค์คือผู้ทรงบำบัดรักษาให้หาย ไม่มีการบำบัดใดเว้นแต่ด้วยการบำบัดรักษาของพระองค์ เป็นการบำบัดที่ไม่ทิ้งความเจ็บป่วยใดๆ หลงเหลืออีกต่อไป” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 5743 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2191)
และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เคยกล่าวแก่ผู้ที่กำลังป่วยว่า
« ضَعْ يَدَكَ عَلَى الَّذِي تَأَلَّمَ مِنْ جَسَدِكَ، وَقُلْ بِاسْمِ اللهِ ثَلَاثًا، وَقُلْ سَبْعَ مَرَّاتٍ أَعُوذُ بِاللهِ وَقُدْرَتِهِ مِنْ شَرِّ مَا أَجِدُ وَأُحَاذِرُ » [رواه مسلم برقم 2202]
ความว่า “จงวางมือของท่านตรงบริเวณที่ท่านรู้สึกปวด แล้วกล่าวบิสมิลลาฮฺสามครั้ง หลังจากนั้นให้กล่าวอีกเจ็ดครั้งว่า
أَعُوذُ بِاللهِ وَقُدْرَتِهِ مِنْ شَرِّ مَا أَجِدُ وَأُحَاذِرُ
ความว่า “ฉันขอความคุ้มครองต่อพระองค์จากความชั่วร้ายของความเจ็บปวดที่ฉันกำลังประสบ และสิ่งที่ฉันหวั่นเกรง” (บันทึกโดย มุสลิม หะดีษเลขที่ 2202)
والحمد لله رب العالمين، وصلى الله وسلم على نبينا محمد،
وعلى آله وصحبه أجمعين.