เกี่ยวกับบทความ
การเกรงกลัวอัลลอฮฺ
การเกรงกลัวอัลลอฮฺ
] ไทย – Thai – تايلاندي [
ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์
แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ
ตรวจทานโดย : อัสรัน นิยมเดชา
ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต อัล-มุลกอฮฺ
2014 - 1435
الخوف من الله
« باللغة التايلاندية »
د. أمين بن عبدالله الشقاوي
ترجمة: حسنى فوانجسيري
مراجعة: عصران نيومديشا
المصدر: كتاب الدرر المنتقاة من الكلمات الملقاة
2014 - 1435
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่งเสมอ
การเกรงกลัวอัลลอฮฺ
มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความสุขความจำเริญและความสันติจงประสบแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใด ๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺ และเป็นศาสนทูตของพระองค์
การเกรงกลัวอัลลอฮฺนั้นถือเป็นระดับขั้นหนึ่งของความศรัทธา ที่มีความสำคัญและมีความประเสริฐมากที่สุด และเป็นการงานที่จำเป็นต้องมีความอิคลาศบริสุทธิ์ใจเป็นเงื่อนไขสำคัญ อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสถึงชาวสวรรค์ว่า
﴿ قَالُوٓاْ إِنَّا كُنَّا قَبۡلُ فِيٓ أَهۡلِنَا مُشۡفِقِينَ ٢٦ فَمَنَّ ٱللَّهُ عَلَيۡنَا وَوَقَىٰنَا عَذَابَ ٱلسَّمُومِ ٢٧ ﴾ [الطور: ٢٥-٢٦]
“พวกเขากล่าวว่า แท้จริง แต่ก่อนนี้ (ในโลกดุนยา) พวกเราอยู่กับครอบครัวของเราเป็นผู้วิตกกังวล ดังนั้น อัลลอฮฺได้ทรงโปรดปรานแก่เรา และได้ทรงปกป้องเราให้พ้นจากการลงโทษแห่งลมร้อน” (อัฏฏูรฺ: 26-27)
และพระองค์ตรัสว่า
﴿ وَلِمَنۡ خَافَ مَقَامَ رَبِّهِۦ جَنَّتَانِ ٤٦ ﴾ [الرحمن: ٤٦]
“และสำหรับผู้ที่ยำเกรงต่อการยืนหน้าพระพักตร์แห่งพระเจ้า (เขาจะได้) สวนสวรรค์สองแห่ง” (อัรเราะหฺมาน: 46)
พระองค์ตรัสอีกว่า
﴿ وَأَمَّا مَنۡ خَافَ مَقَامَ رَبِّهِۦ وَنَهَى ٱلنَّفۡسَ عَنِ ٱلۡهَوَىٰ ٤٠ فَإِنَّ ٱلۡجَنَّةَ هِيَ ٱلۡمَأۡوَىٰ ٤١ ﴾ [النازعات: 40-41]
“และผู้ที่หวาดหวั่นต่อการยืนเบื้องหน้าพระเจ้าของเขา และได้หน่วงเหนี่ยวจิตใจจากกิเลสใฝ่ต่ำ ดังนั้นสวนสวรรค์ก็จะเป็นที่พำนักของเขา” (อันนาซิอาต: 40-41)
ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« سَبْعَةٌ يُظِلُّهُمُ اللهُ فِيْ ظِلِّهِ يَوْمَ لَا ظِلَّ إِلَّا ظِلُّهُ، وذكر منهم: رَجُلٌ طَلَبَتْهُ امْرَأَةٌ ذَاتُ مَنْصِبٍ وَجَمَالٍ، فَقَالَ : إِنِّي أَخَافُ اللهَ » [رواه البخاري برقم 1423 ومسلم برقم 1031]
ความว่า “มีคนเจ็ดประเภทที่พระองค์อัลลอฮฺจะทรงให้พวกเขาได้อยู่ภายใต้ร่มเงาของพระองค์ ในวันที่ไม่มีร่มเงาใดๆนอกจากร่มเงาของพระองค์... (และหนึ่งในเจ็ดกลุ่มที่ท่านกล่าวถึงก็คือ) ชายซึ่งได้รับการเชิญชวนจากหญิงสาวที่เพียบพร้อมด้วยฐานะและความงามให้กระทำสิ่งที่ผิด แต่เขากลับตอบนางว่า ฉันเกรงกลัวพระเจ้าของฉัน” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 1423 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 1031)
ชัยคฺ อับดุรเราะหฺมาน บิน หะสัน อาลัชชัยคฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า ความกลัวนั้นแบ่งออกเป็นหลายประเภท
ประเภทแรก การกลัวอำนาจเร้นลับ หมายถึงการกลัวสิ่งอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ ไม่ว่าจะเป็นเจว็ด หรือรูปบูชา โดยกลัวว่าสิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสถึงคำพูดของกลุ่มชนนบีฮูดว่า
﴿ إِن نَّقُولُ إِلَّا ٱعۡتَرَىٰكَ بَعۡضُ ءَالِهَتِنَا بِسُوٓءٖۗ قَالَ إِنِّيٓ أُشۡهِدُ ٱللَّهَ وَٱشۡهَدُوٓاْ أَنِّي بَرِيٓءٞ مِّمَّا تُشۡرِكُونَ ٥٤ مِن دُونِهِۦۖ فَكِيدُونِي جَمِيعٗا ثُمَّ لَا تُنظِرُونِ ٥٥ ﴾ [هود: ٥٤-٥٥]
“เราจะไม่กล่าวอย่างใด เว้นแต่พระเจ้าบางองค์ของเราได้นำความชั่วเข้าไปสิงในตัวท่าน เขา (ฮูด) กล่าวว่า แท้จริงฉันให้อัลลอฮฺทรงเป็นพยาน แล้วพวกท่านจงเป็นพยานด้วยว่า แท้จริงฉันปลีกตัวออกจากสิ่งที่พวกท่านตั้งภาคีอื่นจากพระองค์ ดังนั้น พวกท่านทั้งหมดจงวางแผนทำร้ายฉันเถิด แล้วพวกท่านอย่าได้ให้ฉันต้องรอคอยเลย” (ฮูด: 54-55)
และพระองค์ตรัสว่า
﴿ وَيُخَوِّفُونَكَ بِٱلَّذِينَ مِن دُونِهِۦۚ ﴾ [الزمر: ٣٥]
“และพวกเขายังขู่เจ้าให้กลัวด้วยเจว็ดต่าง ๆ อื่นจากพระองค์” (อัซซุมัรฺ: 36)
และนี่คือสภาพความเป็นจริงของพวกที่กราบไหว้หลุมศพ หรือรูปบูชาอื่น ๆ พวกเขาเกรงกลัวต่อสิ่งเหล่านั้น และยังขู่ให้ผู้ศรัทธาซึ่งห้ามปรามพวกเขามิให้กราบไหว้บูชาสิ่งเหล่านั้นและให้เคารพภักดีอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียวเกรงกลัวด้วย ความกลัวประเภทนี้เป็นเรื่องที่ขัดกับหลักศรัทธาโดยสิ้นเชิง
ประเภทที่สอง การที่บุคคลหนึ่งละทิ้งสิ่งที่เป็นวาญิบสำหรับเขา เพราะเกรงกลัวผู้หนึ่งผู้ใด และแน่นอนว่าความกลัวเช่นนี้เป็นสิ่งต้องห้าม อัลลอฮฺ ตรัสว่า
﴿ ٱلَّذِينَ قَالَ لَهُمُ ٱلنَّاسُ إِنَّ ٱلنَّاسَ قَدۡ جَمَعُواْ لَكُمۡ فَٱخۡشَوۡهُمۡ ﴾ [آل عمران: ١٧٣]
"บรรดาผู้ที่เมื่อผู้คนได้กล่าวแก่เขาว่า แท้จริงมีผู้คนได้ชุมนุมสำหรับพวกท่าน ดังนั้น พวกท่านจงกลัวพวกเขาเถิด” (อาลอิมรอน: 173)
ท่านอบูสะอีด อัลคุดรีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ครั้งหนึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ยืนขึ้นกล่าวคุฏบะฮฺ ซึ่งส่วนหนึ่งจากคำพูดของท่านคือ
« أَلَا لَا يَمْنَعَنَّ رَجُلًا هَيْبَةُ النَّاسِ : أَنْ يَقُولَ بِحَقٍّ إِذَا عَلِمَهُ » [رواه ابن ماجه برقم 4007]
“จงอย่าให้ความเกรงกลัวต่อผู้อื่น มาขัดขวางการพูดความจริงในสิ่งที่ท่านรู้” แล้วอบูสะอีดก็ร้องไห้และกล่าวว่า ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ เราได้รู้ได้เห็นอะไรหลายอย่างแต่พวกเรากลับกลัวที่จะพูด (บันทึกโดย อิบนุมาญะฮฺ หะดีษเลขที่ 4007)
ประเภทที่สาม ความกลัวโดยธรรมชาติ เช่น กลัวศัตรูคู่อาฆาต กลัวสัตว์ร้ายต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนว่าความกลัวประเภทนี้ไม่มีข้อห้ามแต่ประการใด ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสถึงนบีมูซาว่า
﴿ فَخَرَجَ مِنۡهَا خَآئِفٗا يَتَرَقَّبُۖ ﴾ [القصص: ٢١]
“ดังนั้น เขาจึงออกจากเมืองนั้นในสภาพหวาดกลัวว่าจะเกิดภัย” (อัลเกาะศ็อศ: 21)
และพระองค์ตรัสว่า
﴿ إِنَّمَا ذَٰلِكُمُ ٱلشَّيۡطَٰنُ يُخَوِّفُ أَوۡلِيَآءَهُۥ فَلَا تَخَافُوهُمۡ وَخَافُونِ إِن كُنتُم مُّؤۡمِنِينَ ١٧٥ ﴾ [آل عمران: ١٧٥]
“แท้จริงชัยฏอนนั้นเพียงขู่ได้เฉพาะบรรดาผู้ที่ปฏิบัติตามมันเท่านั้น ดังนั้นพวกเจ้าจงอย่ากลัวพวกเขา และจงกลัวข้าเถิด หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา” (อาลอิมรอน: 175)
ในอายะฮฺข้างต้นนี้ อัลลอฮฺทรงห้ามบรรดาผู้ศรัทธามิให้เกรงกลัวต่อผู้ใดนอกจากพระองค์ และนั่นก็คือความอิคลาศที่พระองค์ทรงสั่งใช้ ดังนั้น เมื่อบ่าวคนใดเกรงกลัวแต่อัลลอฮฺและเคารพอิบาดะฮฺพระองค์อย่างบริสุทธิ์ใจแล้ว พระองค์ก็จะทรงประทานสิ่งที่เขาคาดหวัง และทรงทำให้เขารอดพ้นจากความกลัวใด ๆ ทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ أَلَيۡسَ ٱللَّهُ بِكَافٍ عَبۡدَهُۥۖ وَيُخَوِّفُونَكَ بِٱلَّذِينَ مِن دُونِهِۦۚ وَمَن يُضۡلِلِ ٱللَّهُ فَمَا لَهُۥ مِنۡ هَادٖ ٣٦ ﴾ [الزمر: ٣٥]
“อัลลอฮฺมิทรงเป็นผู้พอเพียงแก่บ่าวของพระองค์ดอกหรือ และพวกเขายังขู่เจ้าให้กลัวด้วยเจว็ดต่าง ๆ อื่นจากพระองค์ และผู้ใดที่อัลลอฮฺทรงให้เขาหลงทาง ดังนั้น สำหรับเขาจะไม่มีผู้ชี้นำทาง” (อัซซุมัรฺ: 36)
อิบนุลก็อยยิม กล่าวว่า “เล่ห์เหลี่ยมประการหนึ่งของเหล่าศัตรูของอัลลอฮฺ คือพวกเขาจะพยายามข่มขู่ผู้ศรัทธาด้วยไพร่พลและผู้สนับสนุนของพวกเขา เพื่อให้ผู้ศรัทธาเกิดความหวาดหวั่น ไม่กล้าที่จะเผชิญหน้าต่อสู้ ไม่กล้าเรียกร้องสู่ความดีและห้ามปรามความชั่ว อัลลอฮฺจึงได้ทรงเตือนผู้ศรัทธาว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุบายและการหลอกล่อของชัยฏอนมารร้าย และทรงห้ามพวกเรามิให้เกรงกลัว”
เกาะตาดะฮฺ กล่าวว่า “ชัยฏอนทำให้พวกเจ้าเกิดความรู้สึกเกรงขามต่อเจว็ดเหล่านั้น ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่ศรัทธาของคนคนหนึ่งแข็งแกร่ง ในจิตใจของเขาก็จะไม่มีความหวาดกลัวหลงเหลืออยู่ อัลลอฮฺ ตรัสว่า
﴿ إِنَّ كَيۡدَ ٱلشَّيۡطَٰنِ كَانَ ضَعِيفًا ٧٦ ﴾ [النساء : ٧٦]
“แท้จริงอุบายของชัยฏอนนั้นเป็นสิ่งอ่อนแอ” (อันนิสาอ์: 76)
แต่หากศรัทธาของเขาอ่อนแอลง ความเกรงกลัวก็จะเข้ามาแทนที่ อายะฮฺข้างต้นนี้จึงเป็นหลักฐานที่ชัดเจน ว่าการเกรงกลัวอย่างบริสุทธิ์ใจนั้น เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้การศรัทธาสมบูรณ์” (ฟัตหุลมะญีด หน้า 396-397)
ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมิยะฮฺ กล่าวว่า “ความกลัว คือ สิ่งที่หักห้ามใจท่าน มิให้ทำในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้าม” (มะดาริญุสสาลิกีน เล่ม 1 หน้า 551)
อิบนุเราะญับ กล่าวว่า “ขอบเขตความเกรงกลัวที่เป็นวาญิบนั้น คือการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ที่เป็นข้อบังคับ (ฟัรฎู) และออกห่างจากสิ่งต้องห้าม (หะรอม) แต่หากผู้ใดสามารถทำได้มากกว่านั้น โดยปฏิบัติสิ่งที่เป็นสุนนะฮฺ และออกห่างจากสิ่งที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) นั่นก็ถือเป็นเรื่องที่น่าสรรเสริญสำหรับเขา” (อัตตัควีฟ มิน อันนารฺ หน้า 21)
ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า ฉันได้ถามท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ถึงอายะฮฺนี้
﴿ وَٱلَّذِينَ يُؤۡتُونَ مَآ ءَاتَواْ وَّقُلُوبُهُمۡ وَجِلَةٌ ﴾ [المؤمنون : ٦٠]
“และบรรดาผู้ที่บริจาคสิ่งที่พวกเขาได้มา โดยที่จิตใจของเขาเปี่ยมไปด้วยความหวั่นเกรง” (อัลมุอ์มินูน: 60)
ว่ารวมถึงผู้ที่ดื่มสุรา หรือลักขโมยด้วยหรือไม่? ท่านตอบว่า
« لَا يَا بِنْتَ الصِّدِّيقِ، وَلَكِنَّهُم الَّذِينَ يَصُومُونَ وَيُصَلُّونَ وَيَتَصَدَّقُونَ، وَهُمْ يَخَافُونَ أَنْ لَا تُقْبَلَ مِنْهُمْ، أُولَئِكَ يُسَارِعُونَ فِي الْخَيْرَاتِ وَهُمْ لَهَا سَابِقُونَ » [رواه الترمذي برقم 3175]
“โอ้บุตรสาวของอบูบักรฺเอ๋ย มันไม่ใช่เช่นนั้นหรอก แต่หมายถึงบรรดาผู้ที่ถือศีลอด ละหมาด และบริจาคทาน แต่ถึงกระนั้นพวกเขาก็ยังหวั่นเกรงว่าการงานของพวกเขานั้นจะไม่ถูกตอบรับ พวกเขาเหล่านั้นต่างรีบเร่งในการประกอบความดีทั้งหลาย” (บันทึกโดย อัตติรฺมิซีย์ หะดีษเลขที่ 3127)
อบูอะลี อัรรูซะบารีย์ กล่าวว่า “ความกลัวและความหวังนั้น เปรียบดังปีกนกสองข้าง เมื่อปีกทั้งสองอยู่ในสภาพที่ดี การทรงตัวของนกก็จะสมบูรณ์ และมันก็จะสามารถบินได้ แต่หากขาดข้างหนึ่งข้างใด มันก็จะไม่สามารถทรงตัวอยู่ได้ และหากขาดทั้งสองข้างไป ก็เท่ากับว่านกตัวนั้นได้สูญสิ้นชีวิตไปแล้ว”
อัลฟุฎ็อยลฺ บิน อิยาฎ กล่าวว่า “ความกลัวดีกว่าความหวังในขณะที่บุคคลหนึ่งมีสุขภาพที่ดี แต่หากเขาใกล้จะตาย ความหวังย่อมดีกว่าสำหรับเขา” (อัตตัควีฟ มิน อันนารฺ หน้า 16)
ท่านอนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ไปเยี่ยมชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งใกล้จะเสียชีวิต ท่านได้ถามเขาว่า “ท่านเป็นอย่างไรบ้าง” เขาตอบว่า “โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ แท้จริงฉันหวังในความเมตตาของอัลลอฮฺ แต่ในขณะเดียวกัน ฉันก็เกรงกลัวพระองค์เพราะบาปความผิดที่เคยทำ” ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงกล่าวว่า
« لَا يَجْتَمِعَانِ فِي قَلْبِ عَبْدٍ فِي مِثْلِ هَذَا المَوْطِنِ، إِلَّا أَعْطَاهُ اللَّهُ مَا يَرْجُو، وَآمَنَهُ مِمَّا يَخَافُ » [رواه الترمذي برقم 983]
“หากมีสองสิ่งนี้ (ความกลัวและความหวัง) อยู่ในใจของบ่าวคนใดในสถานการณ์เช่นนี้ อัลลอฮฺจะให้ได้รับในสิ่งที่เขาแก่เขา และจะทรงให้เขารอดพ้นจากสิ่งที่เขากลัว” (บันทึกโดย อัตติรฺมิซีย์ หะดีษเลขที่ 983)
ท่านอุมัรฺ กล่าวว่า “หากมีเสียงเรียกจากบนฟากฟ้าว่า โอ้มนุษย์ทั้งหลาย พวกเจ้าทุกคนจะได้เข้าสวรรค์ ยกเว้นเพียงคนเดียวเท่านั้น ฉันก็ยังกลัวว่าคนคนนั้นจะเป็นฉัน”
วันหนึ่งท่านอุมัรฺเข้าไปในตลาดพร้อมกับอัลญารูด แล้วท่านได้พบกับหญิงชรานางหนึ่ง ท่านจึงกล่าวให้สลามแก่นาง นางรับสลามและกล่าวแก่ท่านว่า “โอ้อุมัรฺ ฉันนั้นได้เคยเห็นท่านตั้งแต่สมัยท่านยังเยาว์วัยวิ่งเล่นกับเด็ก ๆ ในตลาดอุกาซ ซึ่งในสมัยนั้นผู้คนเรียกขานท่านว่าอุมัยรฺ (อุมัรฺตัวน้อย) เมื่อเวลาผ่านไปท่านก็เติบใหญ่เป็นอุมัรฺ และไม่นานท่านก็กลายเป็นอะมีรุลมุอ์มินีนผู้นำของปวงชนผู้ศรัทธา ฉันขอให้ท่านจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺในการปกครองประชาชนของท่านเถิด เพราะผู้ใดเกรงกลัวความตาย เขาจะหวั่นเกรงต่อความบกพร่องของเขา”
เมื่อท่านอุมัรฺได้ฟังคำพูดของนาง ท่านก็ร้องไห้ อัลญารูดจึงกล่าวขึ้นว่า “เธอนี่ช่างกล้านัก เธอทำให้อะมีรุลมุอ์มินีน ร้องไห้อย่างนั้นหรือ?” แต่ท่านอุมัรฺสั่งให้ปล่อยนางไป เมื่อท่านหยุดร้องไห้ท่านก็กล่าวถามเขาว่า “ท่านไม่รู้จักนางหรอกหรือ?” เขาตอบว่า “ไม่ครับ” ท่านจึงกล่าวว่า “นางคือเคาละฮฺ บุตรี หะกีม นางคือผู้ที่อัลลอฮฺทรงได้ยินคำพูดของนาง ฉะนั้น ก็เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่อุมัรฺจะฟังคำพูดของนาง”
ทั้งนี้ ท่านอุมัรฺหมายถึงพระดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า
﴿ قَدۡ سَمِعَ ٱللَّهُ قَوۡلَ ٱلَّتِي تُجَٰدِلُكَ فِي زَوۡجِهَا وَتَشۡتَكِيٓ إِلَى ٱللَّهِ وَٱللَّهُ يَسۡمَعُ تَحَاوُرَكُمَآۚ إِنَّ ٱللَّهَ سَمِيعُۢ بَصِيرٌ ١ ﴾ [المجادلة: ١]
“โดยแน่นอน อัลลอฮฺทรงได้ยินถ้อยคำของสตรีที่กำลังโต้แย้งกับเจ้าในเรื่องสามีของนาง และนางได้ร้องทุกข์ต่ออัลลอฮฺ และอัลลอฮฺนั้นทรงได้ยินการตอบโต้ของเจ้าทั้งสอง แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรู้เห็นเสมอ” (อัลมุญาดะละฮฺ: 1)
และท่านอุมัรฺได้กล่าวขณะที่ท่านถูกแทงว่า “หากว่าฉันมีทองคำจำนวนมากเต็มหน้าแผ่นดิน ฉันจะยอมสละเหล่านั้นเพื่อแลกกับการที่ฉันจะได้รอดพ้นจากการลงโทษของอัลลอฮฺ ก่อนที่ฉันจะได้เห็นมันเสียอีก" (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 3692)
อุมัรฺ บิน อับดุลอะซีซ กล่าวว่า “ผู้ใดเกรงกลัวอัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเกรงกลัวเขา แต่หากผู้ใดไม่เกรงกลัวพระองค์ เขาก็จะเป็นผู้ที่เกรงกลัวทุกสิ่ง”
ขณะที่ท่านหะสันร้องไห้ มีผู้หนึ่งถามท่านว่า “ท่านร้องไห้เพราะเหตุใดหรือ?” ท่านตอบว่า “ฉันกลัวว่าวันพรุ่งนี้อัลลอฮฺจะโยนฉันลงในไฟนรก โดยที่พระองค์ไม่ทรงแยแส”
ยะหฺยา บิน มุอาซ กล่าวว่า “ความรักที่ท่านมีต่ออัลลอฮฺมีมากเท่าใด ผู้คนก็จะรักท่านมากเท่านั้น และเช่นกันความเกรงกลัวที่ท่านมีต่อพระองค์อยู่ในระดับใด ผู้คนก็จะเกรงกลัวท่านเช่นนั้น”
อิมามอะหฺมัด กล่าวว่า “ความเกรงกลัวนั้นสามารถหักห้ามฉันไม่ให้กินหรือดื่มสิ่งใด โดยที่ฉันไม่รู้สึกหิวหรือกระหายแต่อย่างใดเลย”